มารูจักส่วนประกอบของกีต้าร์กันเถอะ
ก่อนที่จะฝึกหัดและเริ่มเล่นกีต้าร์ได้นั้น เราจำเป็นจะต้องรู้จักส่วนประกอบของกีต้าร์กันเสียก่อน โดยกีต้าร์จะมีส่วนประกอบหลักๆอยู่ 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนคอ และส่วนลำตัวของกีต้าร์
ส่วนหัว (Headstock)
ส่วนหัวกีต้าร์ หรือส่วนที่เรียกกันในชื่อ เฮดสต๊อก (Headstock) เป็นส่วนที่แสดงเอกลักษณ์ของกีต้าร์จุดหนึ่งที่คนจะจำได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อของกีต้าร์ที่จะอยู่ที่หัวกีต้าร์ หรือรูปทรงของหัวกีต้าร์ที่จะต่างกันออกไปตามแต่ละยี่ห้อ เช่น กีต้าร์โปร่ง Yamaha อาจจะมีรูปทรงของบอดี้ที่เหมือนกับกีต้าร์โปร่ง Enya แต่ก็จะมีส่วนหัวหรือสัญลักษณ์ของยี่ห้อที่ไม่เหมือนกัน ส่วนหัวของกีต้าร์ยัังมีส่วนประกอบอื่นๆอีก คือ
ลูกบิด (Tuning Key)
ลูกบิด เป็นส่วนที่ยึดสายกีต้าร์และเป็นตัวตั้งความตึงความหย่อนของสายโดยการหมุนที่ก้านลูกบิดเพื่อให้ได้เสียงตามต้องการหรือตามโน๊ตของสายนั้น ลูกบิดจะมีด้วยกันหลายวัสดุ ทั้งเหล็ก พลาสติก หรือวัสดุอื่นๆแล้วแต่ผู้ผลิตกีต้าร์ตัวนั้นจะออกแบบ
นัท (Nut)
นัทคือตัวรองสายกีต้าร์จากคอไปถึงลูกบิด อยู่ตรงตำแหน่งบนสุุดของคอกีต้าร์ ทำจากวัสดุหลายแบบทั้ง พลาสติก , กระดูก , ไนลอน หรือวัสดุอื่นแล้วแต่ผู้ผลิิตจะออกแบบ วัสดุในการทำนัทแต่ละแบบก็จะให้เสียงและความรู้สึกต่างกัน จุดสำคัญอีกอย่างของนัทคือ ความสูงของนัท เพราะถ้านัทมีความสูงมากเกินไปจะหนุนสายกีต้าร์ให้สูงขึ้นทำให้เราต้องออกแรงกอดสายมากขึ้น อาจจะทำให้เจ็บนิ้วและเล่นได้ยากมากขึ้น ในทางกลับกันถ้านัทมีความเตี้ยมากเกินไปสายกีต้าร์ก็จะติดเฟรท ทำให้เสียงที่ออกมาไม่ชัดเจนหรือผิดเพี้ยนไป ไม่เพราะอย่างที่ควรจะเป็น
ส่วนคอ (Neck)
องค์ประกอบหลักส่วนต่อมาของกีต้าร์คือ คอ (Neck) คอทำจากไม้หลายชนิดแต่ไม้ที่นิยมนำมาทำคอกีต้าร์กันนั้นมี Rosewood , Mahogany , Maple และอื่นๆอีกมากมาย เชฟหรือรูปทรงของคอก็มีมากมายเช่น Soft U , U , C ,V และอีกมากมาย ขึ้นอยู่กับความถนัดของผู้เล่นเองว่าจะชอบเชฟคอทรงไหน ส่วนประกอบอื่นๆของคอมีดังนี้
ก้านเหล็กขันคอ (Truss Rod)
ก้านเหล็กขันคอหรือ Truss Rod คือเหล็กที่อยู่ด้านในคอ ระหว่างคอกับฟิงเกอร์บอร์ด ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับคอกีต้าร์ และมีความสำคัญอีกอย่างคือเป็นเหล็กที่เราสามารถไขได้ เพื่อควบคุมให้คอของกีต้าร์ตัวนั้น โกร่งหรือแอ่น เช่น ถ้าอยากให้กีต้าร์ของเราคอแอ่นมากขึ้นก็ไขตามเข็มนาฬิกา แต่ถ้าอยากให้คอโกร่งก็ไขทวนเข็มนาฬิกา มีประโยชน์สำหรับการเซ็ทอัพ
ฟิงเกอร์บอร์ด (Fingerboard)
ฟิงเกอร์บอร์ด คือไม้ที่แปะลงไปที่คอกีต้าร์อีกชั้น เพื่อปิด truss rod และเป็นที่ลองรับ เฟรท และ อินเลย์ ฟิงเกอร์บอร์ดทำมาจากไม้หลายแบบ เช่น Maple , Rosewood , Ebony ซึ่งการเลือกใช้ไม้แต่ละแบบก็จะให้เสียงที่ต่างออกไปด้วย
เฟรท (Fret)
เฟรทเป็นส่วนสำคัญมากจุดหนึ่งของกีต้าร์ เพราะเราจะพบว่าในกีต้าร์ราคาถูกมากๆที่ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องเฟรท อาจจะทำให้กีต้าร์ตัวนั้นมีเสียงที่เพี้ยนไป ไม่ได้มาตรฐาน วัสดุที่ใช้ทำเฟรทโดยมากแล้วจะเป็น นิเกิ้ล (Nigel) หรือ แสตนเลส (Stainless) ซึ้งเฟรทแต่ละแบบก็จะให้เสียงและความรู้สึกที่ต่างกัน กีต้าร์แต่ละตัวก็จะมีจำนวนเฟรทที่ต่างกันขึ้นอยู่กับความยาวของตัวกีต้าร์ (Scale length) และการออกแบบของผู้ผลิต
อินเลย์ (Inlay)
อินเลย์ คือจุดที่จะบอกตำแหน่งของเฟรทกีต้าร์และเสริมเรื่องความสวยงามของกีต้าร์ มักทำมาจาก มุก , ไม้ , สติกเกอร์ หรือในกีต้าร์ราคาแพงอาจจะเป็น เปลือกหอยหรือไข่มุก ลวยลายของอินเลย์ก็มีแตกต่างกันไปทั้งแบบ จุด , สี่เหลี่ยม , หรือเถาวัลย์ มากมายแล้วแต่ผู้ผลิตจะออกแบบ ตำแหน่งของอินเลย์โดยมากจะอยู่ที่เฟรท 3 , 5 , 7 ,9 12, 15 ,17 ทั้งด้านหน้าและขอบบนของฟิงเกอร์บอร์ด แต่อาจจะมีกีต้าร์บางรุ่นที่ไม่มีิอินเลย์ที่หน้าฟิงเกอร์บอร์ด แต่ก็จะมีขอบด้านบนของฟิงเกอร์บอร์ดแทน
ส่วนลำตัว (Body)
บอดี้เป็นองค์ประกอบหลักที่อาจจะเรียกว่าสำคัญที่สุดก็ได้ เพราะเป็นจุดกำเนิดของเสียงกีต้าร์ บอดี้กีต้าร์แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนไม้หน้า (Top) ไม้ข้าง (Side) ไม้หลัง (Back) ไม้ที่นำมาทำก็มีมากมาย เช่น Sitka , Spruce , Walnut , Mahogany , Rosewood , Koa และอื่นๆ ส่วนมากบอดี้กีต้าร์จะเป็นการผสมไม้เช่น ไม้ข้างและหลังเป็น Mahogany แต่ไม้หน้าใช้เป็น Spruce ไม้หน้าของบอดี้ก็สามารถแบ่งออกได้เป็น ไม้แท้ (Solid) กับไม้อัด (Laminate) ซึ่งไม้แบบ Solid จะให้เสียงที่ดีกว่าแต่ก็อาจจะมีราคาที่แพงกว่าไม้แบบ Laminate บอดี้ของกีต้าร์โปร่งนั้นมีหลายทรงมาก เช่น D (Dreadnought) , OM (Orchestar Model) , GA (Grand Auditorium) ในแต่ละทรงก็จะแบ่งออกไปได้อีกว่าเป็นแบบ Cutaway หรือไม่ และก็มีหลายขนาด เช่น 3/4 นิ้ว , 41 นิ้ว , 36 นิ้ว และอีกหลายขนาด ซึ่งไม้ ทรงและขนาดแต่ละแบบก็มีผลกับเสียงด้วยเช่นกัน การเคลือบสีของบอดี้นั้นจะมีทั้งแบบ เคลือบเงา (Gloss Finish) กับ แบบด้าน (Stain Finish) ให้ความสวยงามคนละแบบ แล้วแต่ชอบ
โพรงเสียง (Sound hole)
โพรงเสียง คือรูที่อยู่ตรงบอดี้กีต้าร์เป็นส่วนที่จะรับการสั่นสะเทือนของสายทำให้เกิดการ ก้อง สะท้อน ของเสียง ด้านใน sound hole จะมีการดัดและวางไม้ตามสูตรของแต่ละผู้ผลิต ซึ่งจะให้เสียงที่แตกต่างกันออกไปตามการออกแบบ
ปิ๊คการ์ด (Pickguard)
ปิ๊คการ์ดมีหน้าที่ให้การป้องกันปิ๊คไม่ให้ขีดข่วนกับบอดี้เพื่อไม่ให้เกิดรอยและยังช่วยตกแต่งให้กีต้าร์โปร่งมีความสวยงามมากขึ้น
สะพานสาย (Bridge)
สะพานสายหรือบริดจ์ คือแผ่นไม้ที่แปะอยู่กับบอดี้เป็นตัวรองรับ แซลเดิ้ลและมุดยึดสายอีกทีหนึ่ง ทำมาจากไม้ ไม้ที่นำมาทำมักจะเป็น Rosewood หรือ Ebony
หย่อง (Saddle)
หย่อง หรือ แซลเดิ้ล คือตัวรองรับสายทั้งหกสายซึ่งจะยึดอยู่กับ บริดจ์ วัสดุที่ทำจะเป็น พลาสติก , กระดูก , ไนลอน หรือวัสดุอื่นๆและแต่ผู้ผลิต แซลเดิ้ลเป็นอีกจุดที่จะกำหนดความสูง-ต่ำของสาย โดยที่ความสูงของแซลเดิ้ลจะต้องสัมพันธ์กับนัท
หมุดยึดสาย (Pin)
พินหรือหมุดยึดสายจะทำหน้าที่ในการยึดหรือล็อคสายกีต้าร์ไว้กับบริดจ์ ทำจากวัสดุหลายชนิด เช่น กระดูก หรือ ไม้ชนิดต่างๆ
ไบดิ้ง (Binding)
ไบดิ้งคือเส้นขอบที่อยู่บริเวณขอบกีต้าร์ กีต้าร์บางรุ่นไบดิ้งอาจจะยาวไปถึงคอและหัวของกีต้าร์ อาจจะเป็นแบบที่ลายหรือแค่เป็นสีไม้อย่างเดียว มีไว้เพื่อความสวยงามของกีต้าร์ วัสดุที่ทำจะเป็นพลาสติกแต่ถ้าในกีต้าร์ราคาสูงมักจะใช้ไม้ในการทำไบดิ้ง
ทั้งหมดที่กล่าวมาคือส่วนประกอบคร่าวๆที่เราควรรู้เป็นพื้นฐานก่อนการเล่นกีต้าร์ เพื่อเป็นความรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในการเล่น เช่น คำศัพท์ของส่วนประกอบของกีต้าร์ เมื่อได้เข้าใจว่าเป็นส่วนไหน และส่วนนั้นๆสามารถทำอะไรได้บ้างก็จะทำให้การเล่นกีต้าร์นั้นเป็นไปอย่างราบรื่นและง่ายดายนั่นเอง หวังว่าการแนะนำส่วนประกอบของกีต้าร์ครั้งนี้จะทำให้เพื่อนๆสามารถเล่นกีต้าได้อย่างสนุกสนานนะครับ สำหรับวันนี้ผม Esanboy ก็ขอลาไปก่อน อย่าลืมติดตามกันต่อไปที่บล็อกหน้าด้วยนะครับ จะเป็นเรื่องอะไรนั้นห้ามพลาดนะครับ
Cr.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น